วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

  ในสมัยโบราณ การค้าขายระยะไกลของน่านอยู่ในการควบคุมของพ่อค้าจีนยูนนานซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม[1] ชาวไตใหญ่ และพ่อค้าชาวเขินจากเชียงตุง กลุ่มพ่อค้าเหล่านี้จะบรรทุกฝิ่นดิบใส่หลังม้ามาค้าและแลกสินค้าของป่า รวมถึงเกลือสินเธาว์ ไม้สัก ฝ้าย ยาสูบ ครั่ง สีเสียด (สมุนไพรแก้รักษาแผลเปื่อย ท้องร่วง และริดสีดวง) งาช้าง กระดูกช้าง เขากวางอ่อน ไหมดิบ หนังสัตว์ป่าต่างๆ
      ระบบเงินตราเกิดขึ้นราวทศวรรษ ๒๔๐๐ใช้เงินรูปีหรือเงินแถบ เป็นการแลกเปลี่ยนสินค้า มีพ่อค้าชาวพม่าและชาวจีนไม่กี่คนที่รับแลกเปลี่ยนเงินตรา และใช้ได้เฉพาะในเวียง เมื่อออกไปรอบนอก ยังต้องใช้ระบบแลกเปลี่ยนสินค้ากัน
เงินท้อกน่าน
 
      เงินที่ใช้แลกเปลี่ยนในเวลาต่อมาคือ เงินท้อกน่านเป็นเงินตราตระกูลหนึ่งของอาณาจักรล้านนา ทำด้วยโลหะผสมเงินกับทองแดง (หนักไปทางทองแดง) รูปร่างคล้ายเปลือกหอย ด้านบนที่นูนเรียบ ไม่มีเส้น   มีสีเหลืองแกมน้ำตาลแดงเคลือบ ด้านล่างมีรอยเว้าเข้าไปคล้ายรอยนิ้วมือกด และ ที่ขอบรอยเว้าด้านล่างมีรูเล็กๆ เจาะไว้เพื่อร้อยเชือก
    เงินเจียงน่านจัดอยู่ในกลุ่มเงินเจียงของอาณาจักรล้านนาที่ผลิตขึ้นใช้ เป็นเงินตราที่มีค่าสูงสุด คำว่า “เจียง” ตามสำเนียงพื้นเมืองคือ เชียง สันนิษฐานว่ามาจาก “เชียงใหม่” หรือ “เชียงแสน” ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาในอดีตเงินเจียงน่านมีลักษณะคล้ายเกือกม้าสอบ งอปลายต่อกัน ตรงที่ต่อกันตอกด้วยสิ่วจนคอดกิ่วเกือบขาดจากกัน และมีอักษรย่อ “น่าน” เป็นตราประทับ
      ส่วนเครื่องเงินน่านนั้น ไม่มีหลักฐานว่ามีมาแต่โบราณ แต่ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า เครื่องเงินน่านมีพัฒนาการมาจากเครื่องเงินในแบบของลาว คาดว่าน่าจะมากับช่างเงินชาวลาว ตอนที่ลาวแตกทัพหนีเข้ามาที่น่าน (ราวสมัยรัชกาลที่ ๑-๓) คนเหล่านี้มีฝีมือในการทำเครื่องเงินที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องเงินน่าน คือลวดลายที่ประณีต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น