วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

แข่งเรือยาวจังหวัดน่าน 2557




การแข่งเรือประเพณีจังหวัดน่าน เป็นประเพณีเก่าแก่ที่บรรพบุรุษชาวน่านได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แม่น้ำน่านเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านตัวเมืองไปยังที่ต่างๆ เรือจึงเป็นพาหนะที่ชาวน่านและเจ้าผู้ครองนครใช้ในการเดินทางไปมาหาสู่กัน และเชื่อมสัมพันธไมตรีกับหัวเมืองต่างๆ เริ่มปรากฏหลักฐานในประวัติศาสตร์เมืองน่าน เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๒ พระยาการเมือง เจ้าเมืองวรนคร (เมืองปัว) ได้ใช้เรืออพยพขนย้ายผู้คนล่องมาตามลำน้ำน่าน เพื่อสร้างเมืองใหม่ที่เมืองภูเพียงแช่แห้ง ( บริเวณวัดพระธาตุแช่แห้ง อำเภอภูเพียง ในปัจจุบัน)
ชาวเมืองน่านมีความผูกพันกับ “พญานาค” โดยมีความเชื่อว่าพญานาคจะปกป้องคุ้มครองโบราณสถาน วัดวาอาราม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพสักการะ จึงขุดเรือยาวและตกแต่งหัวเรือและหางเรือตลอดจนลำเรือให้มีลักษณะคล้ายพญานาค ปีไหนมีภาวะฝนแล้ง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลบรรพบุรุษชาวน่านก็จะนำเรือแข่งไปพายแข่งกัน ซึ่งเปรียบเสมือนกับพญานาคกำลังเล่นน้ำเพื่อขอฝนและก็เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เพราะว่าหลังจากนั้นฝนก็ตกลงมาจริงๆ
การแข่งเรือเมืองน่านเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไร ไม่ปรากฏหลักฐานบอกไว้ มีแต่คำบอกเล่าสืบต่อกันมา และร่องรอยจากซากเรือแข่งเก่าแก่ที่ชำรุด แต่ก็มีเรือบางลำอายุร่วม ๒๐๐ ปี ยังมีสภาพดีสามารถนำลงแข่งขันได้ เช่น เรือเสือเฒ่าท่าล้อ บ้านท่าล้อ อำเภอภูเพียง ขุดเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๙, เรือเสือเฒ่าบุญเรือง บ้านบุญเรือง อำเภอเวียงสา ขุดเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๐ และ เรือคำแดงเทวี ( นางดู่งาม ) บ้านนาเตา อำเภอท่าวังผา ขุดเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๐ จึึงเป็นข้อมูลเชื่อได้ว่าเรือแข่งเมืองน่านเกิดมาพร้อมกับความเป็นเมืองน่าน ผู้คนที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำน่าน สารธารแห่งชีวิตและจิตวิญญาณของชาวเมืองน่าน
มีเรื่องเล่าเป็นตำนานสืบทอดกันมาเกี่ยวกับการสร้างเรือแข่งต้นแบบของเมืองน่าน คือ เรือท้ายหล้า – ตาตอง ท้ายหล้า หมายถึง เรือที่ท้ายเรือที่ยังทำไม่เสร็จ ตาตอง หมายถึง เรือที่มีตาทำด้วยทองเหลืองหรืออีกความหมายหนึ่ง คือมีตาของไม้มีนำมาขุดเรือเป็นสีทองเหลือง
จากเอกสารอ้างอิงประวัติศาสตร์ที่ได้กล่าวถึง “นครน่าน” ซึ่งเป็นเมืองนครรัฐที่เมืองต่างๆเข้ามาสวามิภักดิ์ถึง ๕๗ เมือง โดยมีเจ้าผู้ครองนครสืบราชวงศ์ติดต่อกันถึง ๖๔ พระองค์ นับตั้งแต่ราชวงศ์ภูคาเป็นปฐมสัติวงศ์จึงถึงราชวงศ์เติ๋นมหาวงศ์ ต้นตระกูล ณ น่าน เป็นราชวงศ์สุดท้าย ผู้ครองนครน่านเป็นราชวงศ์สุดท้ายไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัดว่าเจ้าผู้ครองนครน่านเป็นพระองค์ใด มีรับสั่งให้บรรดาเสนาอามาตย์ทหารข้าราชบริพารไปตัดต้นตะเคียนที่ป่าขุนสมุน ( ป่าต้นน้ำที่อยู่ห่างจากอำเภอเมืองน่านในปัจจุบันไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๓๐ กม. ) ซึ่งเป็นต้นไม้ตะเคียนที่มีขนาดใหญ่มาก ใหญ่ขนาดที่ว่าตอไม้ที่เหลือกว้างจนสามารถนำขันโตก ( ที่ใส่สำรับอาหารของคนเหนือ ) มาตั้งได้ถึง ๑๐๐ โตก แล้วให้ทหารลากออกมาที่ริมแม่น้ำน่านรอยลากทำให้เกิดแม่แม่น้ำสมุน ( แม่น้ำสาขาของแม่น้ำน่าน ) และให้น้ำไม้ตะเคียนมาขุดตกแต่งเป็นเรือแข่งเมืองน่าน ๒ ลำตั้งชื่อว่า “เรือท้ายหล้า-ตาตอง” เพื่อให้คนเมืองน่านได้ใช้เป็นรูปแบบในการขุดเรือเพื่อใช้ในการแข่งขันเรือให้เป็นประเพณีเพื่อบ่มเพาะความรัก ความสามัคคี เสริมสร้างจิตใจให้มั่นคง รู้แพ้ รูชนะ รู้อภัย ให้กับลูกหลานเมืองน่าน ตราบจนถึงปัจจุบัน
การแข่งเรือประเพณีเมืองน่านในสมัยก่อน จะดัดการแข่งขันในงานประเพณี ถวายทานสลากภัต หรือชาวน่านเรียกว่า “ตานก๋วยสลาก” ถ้าวัดของชุมชน-หมู่บ้านใดที่มีเรือแข่งมีการจัดงานประเพณี ตานก๋วยสลาก คณะศรัทธาหมู่บ้าน-ชุมชนต่างๆ ที่มีเรือแข่ง ก็จะนำเรือแข่งบรรทุกก๋วยสลากพร้อมชาวบ้านและพระภิกษุ สามเณร ที่รับกิจนิมนต์เดินทางไปยังวัดที่มีงานประเพณีตานก๋วยสลาก เนื่องจากการคมนาคมในสมัยนั้นยังไม่สะดวกสบายเหมือนปัจจุบันอีกทั้งชุมชนหมู่บ้านก็ตั้งไม่ห่างไกลกันมาก และมักจะตั้งชุมชน-หมู่บ้านอยู่ติดกับลำน้ำน่านในขณะที่พายเรือไปก็จะตีฆ้อง กลอง ฉิ่ง ฉาบ ปาน และ เป่าแน เป็นทำนองเพลงล่องน่าน และผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะลุกขึ้นฟ้อนซึ่งเป็นที่มาของท่าฟ้อน “ล่องน่าน” ที่มีเอกลักษณ์รูปแบบการฟ้อนเฉพาะตัว เมื่อเสร็จพิธีในช่วงบ่ายก็จะนำเรือแข่งมาแข่งกันอย่างสนุกสนาน รางวัลที่ได้ก็จะเป็นเหล้าขาวใส่กระบอกไม้ไผ่ ระยะหลังก็จะเปลี่ยนเป็นตะเกียงเจ้าพายุและน้ำมันก๊าด เพื่อนำไปจุดให้แสงสว่างในชุมชน-หมู่บ้านเนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ รวมถึงธงปักหัวเรือและเริ่มวิวัฒนาการเป็นถ้วยรางวัลในปัจจุบัน
การแข่งเรือประเพณีจังหวัดน่าน ปรากฏหลักฐานอ้างอิงได้ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๖๐ เมื่อครั้งกรมสมเด็จเจ้าฟ้าพระนครสวรรค์วรพินิจฯ เสด็จตรวจราชการเมืองน่าน เจ้าผู้ครองนครน่านพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้านายฝ่ายเหนือและข้าราชการประจำเมือง ได้จัดให้มีการแข่งเรือประเพณีให้ทอดพระเนตร เจ้ามหาพรหมสุรธาดาเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอุปราช พร้อมด้วยเจ้านายฝ่ายเหนือได้ลงไปฟ้อนในเรือลำที่ชนะเลิศด้วย
พ.ศ. ๒๔๖๗ พระยาวรวิชัย วุฒิกร ( เลื่อน สนธิรัตน์ ) ปลัดมณฑล ประจำจังหวัดน่าน ได้ริเริ่มให้มีการทอดกฐินสามัคคีขึ้นอย่างเป็นทางการ นับเป็นครั้งแรกของจังหวัดน่าน ในงานนี้ได้จัดให้มีการแข่งเรือประเพณีเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง จึงเป็นประเพณีสืบต่อกันมาทุกปี จนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. ๒๔๗๙ พระเกษตรสรรพกิจ ( นุ่น วรรณโกมล ) ข้าหลวงประจำจังหวัดน่าน ได้จัดให้มีกฎกติกาการแข่งขันเรือขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นกติกาง่ายๆ เช่นมีจุดปล่อย และ เส้นชัย ส่วนรางวัลก็มีธง ( ช่อ ) ปักหัวเรือ มอบให้เรือที่ได้รับรางวัลที่ ๑ เท่านั้น เรือที่ได้รับรางวัลในปีนั้นคือ “เรือบัวพาชมชื่น” หรือ “เรือบัวระพาชมชื่น” ของบ้านน้ำปั้ว อำเภอเวียงสา
พ.ศ. ๒๔๙๘ นายมานิต บุรณพรรค ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้จัดให้องค์การดุริยางค์นาฏศิลป์ กรมศิลปากร มาถ่ายทำภาพยนตร์ สารคดี เพื่อเป็นหลักฐานทางด้านมนุษยชาติ วัฒนธรรม ประเพณีพื้นบ้าน การแข่งเรือประเพณีในปีนั้นจึงจัดอย่างยิ่งใหญ่
พ.ศ. ๒๕๐๓ หลวงอนุมัติราชกิจ ( อั๋น อนุมัติราชกิจ ) ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้ขอพระราชทานผ้าพระกฐินพระราชทาน เรียกกันว่า ( กฐินหลวง ) นำไปทอด ณ วัดช้างคำวรวิหาร พระอารามหลวง การแข่งเรือประเพณีในปีนั้นจึงเป็น การแข่งเรือกฐินพระราชทาน
พ.ศ. ๒๕๒๒ พท.นพ.อุดม เพชรศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้กำหนดให้มีการแข่งเรือประเพณีนัดเปิดสนามในงานประเพณีตานก๋วยสลากของวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ( วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ น่าน ) ประมาณเดือนกันยายน และให้มีการแข่งเรือประเพณีนัดปิดสนามในงานทอดกฐินพระราชทาน ซึ่งกำหนดในวันเสาร์ – อาทิตย์ หลังออกพรรษา ประมาณ ๑-๒ สัปดาห์ ประมาณเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน
พ.ศ. ๒๕๒๕ นายชัยวัฒน์ หุตะเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานถ้วยรางวัลประเภทเรือใหญ่ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานให้กับเรือแข่งที่ชนะเลิศ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เรือขุนน่าน บ้านศรีบุญเรือง อำเภอภูเพียง ได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลเป็นปีแรก
พ.ศ. ๒๕๒๖ นายประกอบ แพทยกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศเรือกลาง จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามบรมราชกุมาร ขอพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศเรือเล็ก จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
พ.ศ. ๒๕๒๗ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามบรมราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนิน เป็นองค์ประธานในพิธีปิดการแข่งขันเรือประเพณีจังหวัดน่าน และได้พระราชทานถ้วยรางวัลให้แก่เรือแข่งที่ชนะเลิศในการแข่งขัน ดังนี้
ประเภทเรือใหญ่ คือ เรือขุนน่าน บ้านศรีบุญเรือง อำเภอภูเพียง
ประเภทเรือกลาง คือ เรือดาวทอง บ้านม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง
ประเภทเรือเล็ก คือ เรือศรนารายณ์ บ้านดอนแก้ว อำเภอเมือง
พ.ศ. ๒๕๓๖ สำนักงานเทศบาลเมืองน่าน ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศประเภทเรือสวยงาม จากพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ในปีนี้วิทยาลัยสารพัดช่างน่าน ร่วมกับ กศ.บป.ศูนย์น่าน ได้ครองถ้วยพระราชทาน
พ.ศ. ๒๕๔๑ สำนักงานเทศบาลเมืองน่าน ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศกองเชียร์ จากพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภา ในปีนี้กองเชียร์บ้านท่าล้อได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลเป็นปีแรก
พ.ศ. ๒๕๔๗ องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ร่วมกับสำนักงานเทศบาลเมืองน่าน อำเภอภูเพียง และ สภาวัฒนาธรรมจังหวัดน่าน จัดการแข่งขันเรือเยาวชน อายุไม่เกิน ๑๘ ปี ( ต่อมาเปลี่ยนเป็นอายุไม่เกิน ๒๐ ปี ) นับเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ในปีแรกนี้เยาวชนบ้านท่าค้ำ อำเภอท่าวังผา นำเรือเทพสุวรรณ ครองถ้วยชนะเลิศ
ข้อมูลจากหนังสือ “เรือแข่งเมืองน่าน มรดกล้ำค่า” รวบรวม เรียบเรียงโดย อาจารย์ราเชนทร์ กาบคำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น