วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ต้นหมี่...หลายคนอาจจะไม่รู้จัก แต่คนเมืองน่านรู้ดีเพราะเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่มีการนำมาใช้ประโยชน์กันมานมนาน

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 5-15 เมตร ชอบดินร่วนปนทรายตามไร่นา ป่าโคก มีมากในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน...สรรพคุณทางยามีมากมาย ราก ใช้ตำนำมาทาแก้ฝี หนอง หรือต้มกิน แก้ท้องอืด แก้ท้องร่วง และสามารถใช้เป็นส่วนผสมยาเย็น ยาผง ยาแก้ซาง นำรากไปตากให้แห้ง แล้วดองกับเหล้าขาว ดื่มแก้โรคเลือด ระดูมาไม่ปกติ ลมพิษ ส่วนเปลือก นำมาใช้ฝนทาแก้ฝี แก้ปวดฟัน แก้ปากเหม็น ต้มแล้วอาบแก้ผดผื่น กลากเกลื้อน แก้พิษแมงมุม

ลำต้น ใช้สร้างบ้านเรือน เผาถ่าน ทำฟืน ทำเขียง ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำด้ามมีด จอบ เสียม ขวาน... เปลือกใช้ย้อมผ้า ย้อมแห ผงเปลือกทำธูปจุดไล่แมลง... ยางต้นหมี่ ใช้ทาเครื่องจักสานให้หนา ทนทานและใช้ดักแมลงตัวเล็กๆ

ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เด่นชัดที่สุดและทำได้ง่าย นำใบสดตำขยี้ผม นอกจากจะช่วยกำจัดเหาแล้ว ยังช่วยลดการหลุดร่วงของเส้นผม บำรุงหนังศีรษะ ฆ่าเชื้อราได้ด้วย

ด้วยเหตุนี้ ศุภสิทธิ์ จำปาวงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. ได้ร่วมกับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน นำใบหมี่มาผลิตเป็นแชมพูสมุนไพรตามตำรับที่มีการถ่ายทอดมาจากโบราณ

ด้วยการนำใบมาหั่นด้วยเครื่อง จากนั้นนำไปหมักในถัง ก่อนที่จะเอาต้มและปั่นให้ละเอียด นำน้ำไปผสมกับครีม บรรจุลงภาชนะ สามารถนำไปวางจำหน่ายได้

และล่าสุดได้นำสมุนไพร 5 ชนิด ใบหมี่, ส้มป่อย, เหง้าขิง, ใบบัวบกและ มะกรูด ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ มาผลิตเป็นแชมพูตัวใหม่ที่ช่วยหยุดผมหลุดร่วงก่อนที่จะกลายเป็นคนหัวล้านได้เป็นอย่างดี

ศุภสิทธิ์ บอกอีกว่า การรวมตัวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลน้ำเกี๋ยน ได้เริ่มมาเมื่อปี 2550 ด้วยสมาชิก 89 คน ด้วยการผลิตแชมพูใบหมี่ สบู่ ครีม
ทาผิว ที่เน้นนำพืชสมุนไพรในท้องถิ่นผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมในชุมชน โดย สพภ. ให้การสนับสนุนด้านวิชาการ ควบคุมคุณภาพพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ จนทำให้ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านกลายเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในวงกว้าง สามารถนำรายได้สู่ชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น