วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558




        สืบเนื่องจากการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ซึ่งมีฐานะยากจน ให้มีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้จากอาชีพเกษตรกรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน

        พื้นที่อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่โปรดเกล้าฯ ให้เข้าไปช่วยเหลือสนับสนุน เนื่องจากสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ประชาชนมีฐานะยากจนและด้อยโอกาส โดยเน้นให้ชาวบ้านใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นหลัก และใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เพื่อดำรงไว้แก่อนุชนรุ่นหลังมิให้สูญหายไป อีกทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น โดยมีผลิตภัณฑ์อาทิ ไม้กวาดดอกหญ้า ผ้าทอลายน้ำไหล สินค้าแปรรูปทางการเกษตร เครื่องจักสานหวาย และเครื่องจักสานหญ้าสามเหลี่ยม ซึ่งหญ้าสามเหลี่ยมนี้เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับต้นกก ลำต้นมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมกว้างด้านละประมาณครึ่งเซนติเมตร เมื่อแก่จัดจะมีสีน้ำตาลเข้ม ขึ้นอยู่ทั่วไป และสามารถหาได้ในพื้นที่ ชาวบ้านนิยมนำมาจักสานเป็นเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ มาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่เป็นของใช้ของชาวบ้านในวงจำกัดยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
 



        สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้พัฒนาฝีมือชาวบ้าน รวมทั้งพัฒนารูปแบบและลวดลายงานจักสานให้เกิดเป็นสินค้าที่สวยงามและประณีต โดยทำเป็นอาชีพเสริมหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตตามฤดูกาลได้ เช่น กระบุง เสื่อ กล่องใส่กระดาษทิชชู่ แจกันสานหญ้าสามเหลี่ยม ที่รองจาน ที่รองแก้ว เป็นต้น

        แต่ทั้งนี้ก็มีข้อจำกัดในเรื่องรูปแบบสินค้าที่ผลิตออกมาไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าที่มีอยู่ในท้องตลาดได้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ในอนาคตอาจทำให้ภูมิปัญญาที่สืบทอดมาเลือนรางและสูญหายไปในที่สุด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานจักรอุตสาหกรรม เพื่อใช้สำหรับฝึกอบรมชาวบ้านให้เกิดทักษะและเทคนิคต่างๆ ด้านการตัดเย็บ สามารถนำไปประยุกต์และพัฒนางานจักสานหญ้าสามเหลี่ยม โดยผสมผสานเทคนิคใหม่ทำให้เกิดสินค้ารูปแบบใหม่ที่มีความหลากหลาย และสามารถแข่งขันในตลาดได้

        การดำเนินงานที่ผ่านมาสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จัดฝึกอบรมอาชีพด้านการตัดเย็บจักรอุตสาหกรรม ให้ประชาชนในพื้นที่โครงการภูฟ้าพัฒนา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ณ อาคารฝึกอบรม ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ไปแล้ว ๔ หลักสูตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถและทักษะกระบวนการ วิธีการด้านการตัดเย็บสามารถนำไปประยุกต์และพัฒนางานจักสาน ให้ตรงกับความต้องการของตลาด

        ปัจจุบันชาวบ้านสามารถนำงานจักสานไปพัฒนาเป็นสินค้าตัดเย็บประกอบหญ้าสามเหลี่ยม เช่น ที่รองแก้ว ที่รองจาน กรอบรูป กระเป๋ารูปแบบต่างๆ เป็นต้น ซึ่งสามารถจำหน่ายสู่ท้องตลาดได้ ชาวบ้านมีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตทีดีขึ้น นับว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการประกอบอาชีพเสริมที่ยั่งยืนสืบไป
 

แข่งเรือยาวจังหวัดน่าน 2557




การแข่งเรือประเพณีจังหวัดน่าน เป็นประเพณีเก่าแก่ที่บรรพบุรุษชาวน่านได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แม่น้ำน่านเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านตัวเมืองไปยังที่ต่างๆ เรือจึงเป็นพาหนะที่ชาวน่านและเจ้าผู้ครองนครใช้ในการเดินทางไปมาหาสู่กัน และเชื่อมสัมพันธไมตรีกับหัวเมืองต่างๆ เริ่มปรากฏหลักฐานในประวัติศาสตร์เมืองน่าน เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๒ พระยาการเมือง เจ้าเมืองวรนคร (เมืองปัว) ได้ใช้เรืออพยพขนย้ายผู้คนล่องมาตามลำน้ำน่าน เพื่อสร้างเมืองใหม่ที่เมืองภูเพียงแช่แห้ง ( บริเวณวัดพระธาตุแช่แห้ง อำเภอภูเพียง ในปัจจุบัน)
ชาวเมืองน่านมีความผูกพันกับ “พญานาค” โดยมีความเชื่อว่าพญานาคจะปกป้องคุ้มครองโบราณสถาน วัดวาอาราม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพสักการะ จึงขุดเรือยาวและตกแต่งหัวเรือและหางเรือตลอดจนลำเรือให้มีลักษณะคล้ายพญานาค ปีไหนมีภาวะฝนแล้ง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลบรรพบุรุษชาวน่านก็จะนำเรือแข่งไปพายแข่งกัน ซึ่งเปรียบเสมือนกับพญานาคกำลังเล่นน้ำเพื่อขอฝนและก็เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เพราะว่าหลังจากนั้นฝนก็ตกลงมาจริงๆ
การแข่งเรือเมืองน่านเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไร ไม่ปรากฏหลักฐานบอกไว้ มีแต่คำบอกเล่าสืบต่อกันมา และร่องรอยจากซากเรือแข่งเก่าแก่ที่ชำรุด แต่ก็มีเรือบางลำอายุร่วม ๒๐๐ ปี ยังมีสภาพดีสามารถนำลงแข่งขันได้ เช่น เรือเสือเฒ่าท่าล้อ บ้านท่าล้อ อำเภอภูเพียง ขุดเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๙, เรือเสือเฒ่าบุญเรือง บ้านบุญเรือง อำเภอเวียงสา ขุดเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๐ และ เรือคำแดงเทวี ( นางดู่งาม ) บ้านนาเตา อำเภอท่าวังผา ขุดเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๐ จึึงเป็นข้อมูลเชื่อได้ว่าเรือแข่งเมืองน่านเกิดมาพร้อมกับความเป็นเมืองน่าน ผู้คนที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำน่าน สารธารแห่งชีวิตและจิตวิญญาณของชาวเมืองน่าน
มีเรื่องเล่าเป็นตำนานสืบทอดกันมาเกี่ยวกับการสร้างเรือแข่งต้นแบบของเมืองน่าน คือ เรือท้ายหล้า – ตาตอง ท้ายหล้า หมายถึง เรือที่ท้ายเรือที่ยังทำไม่เสร็จ ตาตอง หมายถึง เรือที่มีตาทำด้วยทองเหลืองหรืออีกความหมายหนึ่ง คือมีตาของไม้มีนำมาขุดเรือเป็นสีทองเหลือง
จากเอกสารอ้างอิงประวัติศาสตร์ที่ได้กล่าวถึง “นครน่าน” ซึ่งเป็นเมืองนครรัฐที่เมืองต่างๆเข้ามาสวามิภักดิ์ถึง ๕๗ เมือง โดยมีเจ้าผู้ครองนครสืบราชวงศ์ติดต่อกันถึง ๖๔ พระองค์ นับตั้งแต่ราชวงศ์ภูคาเป็นปฐมสัติวงศ์จึงถึงราชวงศ์เติ๋นมหาวงศ์ ต้นตระกูล ณ น่าน เป็นราชวงศ์สุดท้าย ผู้ครองนครน่านเป็นราชวงศ์สุดท้ายไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัดว่าเจ้าผู้ครองนครน่านเป็นพระองค์ใด มีรับสั่งให้บรรดาเสนาอามาตย์ทหารข้าราชบริพารไปตัดต้นตะเคียนที่ป่าขุนสมุน ( ป่าต้นน้ำที่อยู่ห่างจากอำเภอเมืองน่านในปัจจุบันไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๓๐ กม. ) ซึ่งเป็นต้นไม้ตะเคียนที่มีขนาดใหญ่มาก ใหญ่ขนาดที่ว่าตอไม้ที่เหลือกว้างจนสามารถนำขันโตก ( ที่ใส่สำรับอาหารของคนเหนือ ) มาตั้งได้ถึง ๑๐๐ โตก แล้วให้ทหารลากออกมาที่ริมแม่น้ำน่านรอยลากทำให้เกิดแม่แม่น้ำสมุน ( แม่น้ำสาขาของแม่น้ำน่าน ) และให้น้ำไม้ตะเคียนมาขุดตกแต่งเป็นเรือแข่งเมืองน่าน ๒ ลำตั้งชื่อว่า “เรือท้ายหล้า-ตาตอง” เพื่อให้คนเมืองน่านได้ใช้เป็นรูปแบบในการขุดเรือเพื่อใช้ในการแข่งขันเรือให้เป็นประเพณีเพื่อบ่มเพาะความรัก ความสามัคคี เสริมสร้างจิตใจให้มั่นคง รู้แพ้ รูชนะ รู้อภัย ให้กับลูกหลานเมืองน่าน ตราบจนถึงปัจจุบัน
การแข่งเรือประเพณีเมืองน่านในสมัยก่อน จะดัดการแข่งขันในงานประเพณี ถวายทานสลากภัต หรือชาวน่านเรียกว่า “ตานก๋วยสลาก” ถ้าวัดของชุมชน-หมู่บ้านใดที่มีเรือแข่งมีการจัดงานประเพณี ตานก๋วยสลาก คณะศรัทธาหมู่บ้าน-ชุมชนต่างๆ ที่มีเรือแข่ง ก็จะนำเรือแข่งบรรทุกก๋วยสลากพร้อมชาวบ้านและพระภิกษุ สามเณร ที่รับกิจนิมนต์เดินทางไปยังวัดที่มีงานประเพณีตานก๋วยสลาก เนื่องจากการคมนาคมในสมัยนั้นยังไม่สะดวกสบายเหมือนปัจจุบันอีกทั้งชุมชนหมู่บ้านก็ตั้งไม่ห่างไกลกันมาก และมักจะตั้งชุมชน-หมู่บ้านอยู่ติดกับลำน้ำน่านในขณะที่พายเรือไปก็จะตีฆ้อง กลอง ฉิ่ง ฉาบ ปาน และ เป่าแน เป็นทำนองเพลงล่องน่าน และผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะลุกขึ้นฟ้อนซึ่งเป็นที่มาของท่าฟ้อน “ล่องน่าน” ที่มีเอกลักษณ์รูปแบบการฟ้อนเฉพาะตัว เมื่อเสร็จพิธีในช่วงบ่ายก็จะนำเรือแข่งมาแข่งกันอย่างสนุกสนาน รางวัลที่ได้ก็จะเป็นเหล้าขาวใส่กระบอกไม้ไผ่ ระยะหลังก็จะเปลี่ยนเป็นตะเกียงเจ้าพายุและน้ำมันก๊าด เพื่อนำไปจุดให้แสงสว่างในชุมชน-หมู่บ้านเนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ รวมถึงธงปักหัวเรือและเริ่มวิวัฒนาการเป็นถ้วยรางวัลในปัจจุบัน
การแข่งเรือประเพณีจังหวัดน่าน ปรากฏหลักฐานอ้างอิงได้ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๖๐ เมื่อครั้งกรมสมเด็จเจ้าฟ้าพระนครสวรรค์วรพินิจฯ เสด็จตรวจราชการเมืองน่าน เจ้าผู้ครองนครน่านพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้านายฝ่ายเหนือและข้าราชการประจำเมือง ได้จัดให้มีการแข่งเรือประเพณีให้ทอดพระเนตร เจ้ามหาพรหมสุรธาดาเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอุปราช พร้อมด้วยเจ้านายฝ่ายเหนือได้ลงไปฟ้อนในเรือลำที่ชนะเลิศด้วย
พ.ศ. ๒๔๖๗ พระยาวรวิชัย วุฒิกร ( เลื่อน สนธิรัตน์ ) ปลัดมณฑล ประจำจังหวัดน่าน ได้ริเริ่มให้มีการทอดกฐินสามัคคีขึ้นอย่างเป็นทางการ นับเป็นครั้งแรกของจังหวัดน่าน ในงานนี้ได้จัดให้มีการแข่งเรือประเพณีเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง จึงเป็นประเพณีสืบต่อกันมาทุกปี จนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. ๒๔๗๙ พระเกษตรสรรพกิจ ( นุ่น วรรณโกมล ) ข้าหลวงประจำจังหวัดน่าน ได้จัดให้มีกฎกติกาการแข่งขันเรือขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นกติกาง่ายๆ เช่นมีจุดปล่อย และ เส้นชัย ส่วนรางวัลก็มีธง ( ช่อ ) ปักหัวเรือ มอบให้เรือที่ได้รับรางวัลที่ ๑ เท่านั้น เรือที่ได้รับรางวัลในปีนั้นคือ “เรือบัวพาชมชื่น” หรือ “เรือบัวระพาชมชื่น” ของบ้านน้ำปั้ว อำเภอเวียงสา
พ.ศ. ๒๔๙๘ นายมานิต บุรณพรรค ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้จัดให้องค์การดุริยางค์นาฏศิลป์ กรมศิลปากร มาถ่ายทำภาพยนตร์ สารคดี เพื่อเป็นหลักฐานทางด้านมนุษยชาติ วัฒนธรรม ประเพณีพื้นบ้าน การแข่งเรือประเพณีในปีนั้นจึงจัดอย่างยิ่งใหญ่
พ.ศ. ๒๕๐๓ หลวงอนุมัติราชกิจ ( อั๋น อนุมัติราชกิจ ) ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้ขอพระราชทานผ้าพระกฐินพระราชทาน เรียกกันว่า ( กฐินหลวง ) นำไปทอด ณ วัดช้างคำวรวิหาร พระอารามหลวง การแข่งเรือประเพณีในปีนั้นจึงเป็น การแข่งเรือกฐินพระราชทาน
พ.ศ. ๒๕๒๒ พท.นพ.อุดม เพชรศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้กำหนดให้มีการแข่งเรือประเพณีนัดเปิดสนามในงานประเพณีตานก๋วยสลากของวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ( วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ น่าน ) ประมาณเดือนกันยายน และให้มีการแข่งเรือประเพณีนัดปิดสนามในงานทอดกฐินพระราชทาน ซึ่งกำหนดในวันเสาร์ – อาทิตย์ หลังออกพรรษา ประมาณ ๑-๒ สัปดาห์ ประมาณเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน
พ.ศ. ๒๕๒๕ นายชัยวัฒน์ หุตะเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานถ้วยรางวัลประเภทเรือใหญ่ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานให้กับเรือแข่งที่ชนะเลิศ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เรือขุนน่าน บ้านศรีบุญเรือง อำเภอภูเพียง ได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลเป็นปีแรก
พ.ศ. ๒๕๒๖ นายประกอบ แพทยกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศเรือกลาง จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามบรมราชกุมาร ขอพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศเรือเล็ก จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
พ.ศ. ๒๕๒๗ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามบรมราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนิน เป็นองค์ประธานในพิธีปิดการแข่งขันเรือประเพณีจังหวัดน่าน และได้พระราชทานถ้วยรางวัลให้แก่เรือแข่งที่ชนะเลิศในการแข่งขัน ดังนี้
ประเภทเรือใหญ่ คือ เรือขุนน่าน บ้านศรีบุญเรือง อำเภอภูเพียง
ประเภทเรือกลาง คือ เรือดาวทอง บ้านม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง
ประเภทเรือเล็ก คือ เรือศรนารายณ์ บ้านดอนแก้ว อำเภอเมือง
พ.ศ. ๒๕๓๖ สำนักงานเทศบาลเมืองน่าน ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศประเภทเรือสวยงาม จากพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ในปีนี้วิทยาลัยสารพัดช่างน่าน ร่วมกับ กศ.บป.ศูนย์น่าน ได้ครองถ้วยพระราชทาน
พ.ศ. ๒๕๔๑ สำนักงานเทศบาลเมืองน่าน ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศกองเชียร์ จากพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภา ในปีนี้กองเชียร์บ้านท่าล้อได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลเป็นปีแรก
พ.ศ. ๒๕๔๗ องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ร่วมกับสำนักงานเทศบาลเมืองน่าน อำเภอภูเพียง และ สภาวัฒนาธรรมจังหวัดน่าน จัดการแข่งขันเรือเยาวชน อายุไม่เกิน ๑๘ ปี ( ต่อมาเปลี่ยนเป็นอายุไม่เกิน ๒๐ ปี ) นับเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ในปีแรกนี้เยาวชนบ้านท่าค้ำ อำเภอท่าวังผา นำเรือเทพสุวรรณ ครองถ้วยชนะเลิศ
ข้อมูลจากหนังสือ “เรือแข่งเมืองน่าน มรดกล้ำค่า” รวบรวม เรียบเรียงโดย อาจารย์ราเชนทร์ กาบคำ

วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

  ในสมัยโบราณ การค้าขายระยะไกลของน่านอยู่ในการควบคุมของพ่อค้าจีนยูนนานซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม[1] ชาวไตใหญ่ และพ่อค้าชาวเขินจากเชียงตุง กลุ่มพ่อค้าเหล่านี้จะบรรทุกฝิ่นดิบใส่หลังม้ามาค้าและแลกสินค้าของป่า รวมถึงเกลือสินเธาว์ ไม้สัก ฝ้าย ยาสูบ ครั่ง สีเสียด (สมุนไพรแก้รักษาแผลเปื่อย ท้องร่วง และริดสีดวง) งาช้าง กระดูกช้าง เขากวางอ่อน ไหมดิบ หนังสัตว์ป่าต่างๆ
      ระบบเงินตราเกิดขึ้นราวทศวรรษ ๒๔๐๐ใช้เงินรูปีหรือเงินแถบ เป็นการแลกเปลี่ยนสินค้า มีพ่อค้าชาวพม่าและชาวจีนไม่กี่คนที่รับแลกเปลี่ยนเงินตรา และใช้ได้เฉพาะในเวียง เมื่อออกไปรอบนอก ยังต้องใช้ระบบแลกเปลี่ยนสินค้ากัน
เงินท้อกน่าน
 
      เงินที่ใช้แลกเปลี่ยนในเวลาต่อมาคือ เงินท้อกน่านเป็นเงินตราตระกูลหนึ่งของอาณาจักรล้านนา ทำด้วยโลหะผสมเงินกับทองแดง (หนักไปทางทองแดง) รูปร่างคล้ายเปลือกหอย ด้านบนที่นูนเรียบ ไม่มีเส้น   มีสีเหลืองแกมน้ำตาลแดงเคลือบ ด้านล่างมีรอยเว้าเข้าไปคล้ายรอยนิ้วมือกด และ ที่ขอบรอยเว้าด้านล่างมีรูเล็กๆ เจาะไว้เพื่อร้อยเชือก
    เงินเจียงน่านจัดอยู่ในกลุ่มเงินเจียงของอาณาจักรล้านนาที่ผลิตขึ้นใช้ เป็นเงินตราที่มีค่าสูงสุด คำว่า “เจียง” ตามสำเนียงพื้นเมืองคือ เชียง สันนิษฐานว่ามาจาก “เชียงใหม่” หรือ “เชียงแสน” ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาในอดีตเงินเจียงน่านมีลักษณะคล้ายเกือกม้าสอบ งอปลายต่อกัน ตรงที่ต่อกันตอกด้วยสิ่วจนคอดกิ่วเกือบขาดจากกัน และมีอักษรย่อ “น่าน” เป็นตราประทับ
      ส่วนเครื่องเงินน่านนั้น ไม่มีหลักฐานว่ามีมาแต่โบราณ แต่ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า เครื่องเงินน่านมีพัฒนาการมาจากเครื่องเงินในแบบของลาว คาดว่าน่าจะมากับช่างเงินชาวลาว ตอนที่ลาวแตกทัพหนีเข้ามาที่น่าน (ราวสมัยรัชกาลที่ ๑-๓) คนเหล่านี้มีฝีมือในการทำเครื่องเงินที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องเงินน่าน คือลวดลายที่ประณีต
ต้นหมี่...หลายคนอาจจะไม่รู้จัก แต่คนเมืองน่านรู้ดีเพราะเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่มีการนำมาใช้ประโยชน์กันมานมนาน

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 5-15 เมตร ชอบดินร่วนปนทรายตามไร่นา ป่าโคก มีมากในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน...สรรพคุณทางยามีมากมาย ราก ใช้ตำนำมาทาแก้ฝี หนอง หรือต้มกิน แก้ท้องอืด แก้ท้องร่วง และสามารถใช้เป็นส่วนผสมยาเย็น ยาผง ยาแก้ซาง นำรากไปตากให้แห้ง แล้วดองกับเหล้าขาว ดื่มแก้โรคเลือด ระดูมาไม่ปกติ ลมพิษ ส่วนเปลือก นำมาใช้ฝนทาแก้ฝี แก้ปวดฟัน แก้ปากเหม็น ต้มแล้วอาบแก้ผดผื่น กลากเกลื้อน แก้พิษแมงมุม

ลำต้น ใช้สร้างบ้านเรือน เผาถ่าน ทำฟืน ทำเขียง ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำด้ามมีด จอบ เสียม ขวาน... เปลือกใช้ย้อมผ้า ย้อมแห ผงเปลือกทำธูปจุดไล่แมลง... ยางต้นหมี่ ใช้ทาเครื่องจักสานให้หนา ทนทานและใช้ดักแมลงตัวเล็กๆ

ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เด่นชัดที่สุดและทำได้ง่าย นำใบสดตำขยี้ผม นอกจากจะช่วยกำจัดเหาแล้ว ยังช่วยลดการหลุดร่วงของเส้นผม บำรุงหนังศีรษะ ฆ่าเชื้อราได้ด้วย

ด้วยเหตุนี้ ศุภสิทธิ์ จำปาวงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. ได้ร่วมกับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน นำใบหมี่มาผลิตเป็นแชมพูสมุนไพรตามตำรับที่มีการถ่ายทอดมาจากโบราณ

ด้วยการนำใบมาหั่นด้วยเครื่อง จากนั้นนำไปหมักในถัง ก่อนที่จะเอาต้มและปั่นให้ละเอียด นำน้ำไปผสมกับครีม บรรจุลงภาชนะ สามารถนำไปวางจำหน่ายได้

และล่าสุดได้นำสมุนไพร 5 ชนิด ใบหมี่, ส้มป่อย, เหง้าขิง, ใบบัวบกและ มะกรูด ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ มาผลิตเป็นแชมพูตัวใหม่ที่ช่วยหยุดผมหลุดร่วงก่อนที่จะกลายเป็นคนหัวล้านได้เป็นอย่างดี

ศุภสิทธิ์ บอกอีกว่า การรวมตัวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลน้ำเกี๋ยน ได้เริ่มมาเมื่อปี 2550 ด้วยสมาชิก 89 คน ด้วยการผลิตแชมพูใบหมี่ สบู่ ครีม
ทาผิว ที่เน้นนำพืชสมุนไพรในท้องถิ่นผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมในชุมชน โดย สพภ. ให้การสนับสนุนด้านวิชาการ ควบคุมคุณภาพพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ จนทำให้ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านกลายเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในวงกว้าง สามารถนำรายได้สู่ชุมชน

“ผ้าทอชาวไทลื้อ” ดึงภูมิปัญญาขายท่องเที่ยวโอทอปเมืองน่าน
ผลงานผ้าทอไทลื้อ ของชุมชนบ้านหนองบัว
        ผ้าทอลายน้ำไหล ผ้าทอที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทลื้อ จังหวัดน่าน เมืองเก่า ยังคงรักษาประเพณีวัฒนธรรมโบราณของตนเองสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสันนิฐานว่าการออกแบบลายผ้าทอชาวไทลื้อ สืบเชื้อสายมาจากชาวไทลื้อในดินแดนสิบสองปันนา ประเทศจีน อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2379 
      
       โดยตั้งถิ่นฐานที่บ้านล้าหลวง อ.เชียงคำ จ.พะเยา และตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านหนองบัว บ้านต้นฮ่าง ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน และบ้านดอนมูล อ.ท่าวังผา จ.น่าน โดยการนำของเจ้าหลวงเมืองล้า ชาวไทลื้อ มีภาษาพูด และประเพณีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง และรักษาสืบทอดจนถึง
“ผ้าทอชาวไทลื้อ” ดึงภูมิปัญญาขายท่องเที่ยวโอทอปเมืองน่าน
นางอุหลั่น จันตยอด รองประธานกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านหนองบัว
        ปัจจุบันนี้ ประวัติดังกล่าวได้ปรากฎในจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ ซึ่งเป็นฝีมือช่างสกุลลื้อ ที่ได้วาดลวดลายของผ้าซิ่นของผู้หญิงในรูปเป็นลายผ้าซิ่นทั้งหมดด้วยผ้าทอลายน้ำไหลที่ดัดแปลงมาจากผ้าลายชาวลื้อ สมัยแรกๆ นิยมใช้ไหมเงิน และไหมคำด้านลายผ้าตรงส่วนที่เป็นหยักของกระแสน้ำ จากนั้นใช้ลายมุกรูปสัตว์แทรกเพื่อแสดงว่าผู้คิดลายน้ำไหล ไม่ได้ลอกแบบของชาวลื้อมาทั้งหมด ผ้าทอลายน้ำไหลไทลื้อเริ่มทอกันครั้งแรกที่บ้านหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน เป็นศิลปะการทอผ้าด้วยมือ 
      
       สาเหตุที่เรียกผ้าทอลายน้ำไหล เพราะลวดลายที่อออกมามีลักษณะเหมือนลายน้ำไหล จึงเรียกว่าผ้าลายน้ำไหล แต่ปัจจุบันได้คิดพลิกแพลงลวดลายต่างๆ เพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย และได้ขยายพื้นที่การทอผ้าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ยังคงเรียกชื่อเดิมว่าผ้าลายน้ำไหล ผ้าทอลายน้ำไหลจังหวัดน่าน ปัจจุบันมีการทอลวดลายต่างๆ มากมาย เช่น ลายน้ำไหล มีลักษณะเป็นคลื่นเหมือนขั้นบันไดมองดูเหมือนสายน้ำกำลังไหลเป็นทางยาว นับว่าเป็นลายต้นแบบ และดั้งเดิม จึงเรียกลายน้ำไหล
“ผ้าทอชาวไทลื้อ” ดึงภูมิปัญญาขายท่องเที่ยวโอทอปเมืองน่าน
ชาวบ้านกลุ่มทอผ้า ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ
        นอกจากนี้ ลายจรวด เป็นการเพิ่มหยักในลายน้ำไหลเป็นลายที่มีลักษณะคล้ายจรวดกำลังพุ่ง หรือตอปิโด ลายดอกไม้หรือลายแมงมุม เมื่อนำผ้าลายน้ำไหลมาต่อกันมีจุดช่องว่างตรงกลางเติมเส้นลายขาเล็กๆ แยกออกรอบตัว มองดูคล้ายดอกไม้หรือแมงมุม เรียกว่าลายดอกไม้หรือ ลายแมงมุม ลายปลาหมึก มีลักษณะลวดลายคล้ายแมงมุม แต่ทิ้งหางยาวกว่าลายแมงมุม ลายเล็บมือนาง คือ การนำลายน้ำไหลมาหักมุมให้ทู่ และทอสอดสีด้ายให้เลี่ยมเป็นชั้นๆ ลายธาตุ เป็นลวดลายที่ประยุกต์ขึ้นมาตามลักษณะคล้ายเจดีย์เป็นชั้นๆ ยอดเจดีย์ปลายแหลม ลายกาบ ลักษณะใช้เส้นฝ้ายหลายสีทอซ้อนกันหลายชั้นเป็นกาบ ลายใบมีด มีลักษณะการสอดสีด้ายหลายๆ สีในผืนผ้าดูลักษณะเหมือนใบมีดโกนบางๆ สบับสีหลายสีในผืนผ้า สำหรับลายลายน้ำไหลเป็นลายที่มีความนิยม และมียอดจำหน่ายมากที่สุด และนอกจากนี้ ยังมีลายแมงมุมสลับกับลายน้ำไหลเพื่อเพิ่มความสวยงาม
“ผ้าทอชาวไทลื้อ” ดึงภูมิปัญญาขายท่องเที่ยวโอทอปเมืองน่าน
การย้อมผ้าแบบสีธรรมชาติ
        ในส่วนของผู้ผลิตผ้าลายน้ำไหล ต้นตำรับดั้งเดิมอยู่ที่ บ้านหนองบัว หมู่บ้านของชาวไทลื้อเชื้อสายเมืองล้า โดยเริ่มทอผ้ามาไม่น้อยกว่า 150 ปี ปัจจุบัน ผ้าทอลายน้ำไหล ของบ้านหนองบัว ไม่ได้ขายกันเฉพาะในชุมชน แต่เป็นสินค้าภูมิปัญญาที่ทำขึ้นมาขายเป็นของฝากของนักท่องเที่ยวด้วย แต่เดิมการทอผ้าของบ้านหนองบัว จะเป็นลกัษณะของการทอแบบของใครของมัน จนกระทั่ง ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้มาสอนเทคนิคการย้อมผ้าสีธรรมชาติ จึงได้เกิดการรวมตัวและเกิดเป็นกลุ่มสตรีทอผ้าขึ้น โดยมีนางจันทร์สม พรหมปัญญา เป็นประธานกลุ่ม เมื่อปี 2523 และแบ่งกลุ่มออกเป็น 2 จุด จุดแรกที่บ้าน นางจันทร์สม และจุดที่สองที่บ้านคุณดวงศรี และก็มีการกระจัดกระจายไปตามครัวเรือนต่างๆ ที่มีกี่กระตุกเครื่องทอผ้า 
“ผ้าทอชาวไทลื้อ” ดึงภูมิปัญญาขายท่องเที่ยวโอทอปเมืองน่าน
        ทั้งนี้ หลังจากนั้นนางจันทร์สม ได้นำผ้าทอของตนเองไปร่วมออกงานตามสถานที่ราชการในจังหวัดหลายแหง จนกระทั่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้น ได้เห็นถึงฝีมือ และความสวยงามของผ้าทอ จึงได้นำไปถวายสมเด็จพระราชชนนี (สมเด็จย่า) และติดป้ายผ้าทอบ้านหนองบัว ตรงจุดนี้เองทำให้ผ้าทอของป้าจันทร์สมได้รับความสนใจ และเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
      
       ป้าจันทร์สม เล่าว่า เริ่มกิจการทอผ้าของตนเองเมื่อปี 2521 ซึ่งช่วงเริ่มต้น 3-4 ปีแรก ได้รับความสนใจอย่างมาก มีพ่อค้าคนกลางมาจากหลายแห่ง รวมถึงนักท่องเที่ยว จะต้องแวะเวียนเข้ามาชมและซื้อผ้าทอกันถึงบ้าน เพราะไม่ได้มีการนำไปจำหน่ายที่อื่นๆ แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในช่วงหลัง ผ้าทอลายน้ำไหล มีการทอกันมาก มีผู้ผลิตจากหมู่บ้านอื่นๆ หันมาทำผ้าทอในลวดลายเช่นเดียวกับเรา ออกจำหน่าย ต้องยอมรับว่า แม้เราจะเป็นต้นตำรับ แต่ก็ได้รับผลกระทบ เพราะลูกค้าไม่ได้มองว่าต้องมาซื้อถึงแหล่งผลิต ของเรา สามารถหาซื้อที่อื่นๆที่สะดวกกว่า ปัจจุบันยอดขายของเราก็ลดลงไปมาก
“ผ้าทอชาวไทลื้อ” ดึงภูมิปัญญาขายท่องเที่ยวโอทอปเมืองน่าน
ลวดลายผ้าทั้งแบบดั้งเดิมและแบบใหม่สอดลิ้ม
        ทั้งนี้ ในส่วนของช่องทางการขาย ทางบ้านหนองบัว ยังคงยึดช่องทางการขาย เดิม คือ ในวัดหนองบัว และที่บ้านป้าจันทร์สม เพราะต้องการสร้างเอกลักษณ์ให้กับผ้าทอลายน้ำไหลของชาวไทลื้อ มีขายเพียงแห่งเดียว นักท่องเที่ยวต้องมาซื้อที่แหล่งผลิตที่บ้านหนองบัวเท่านั้น ถึงจะได้ของแท้ ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาซื้อผ้าจากที่แหล่งผลิตนี้เท่านั้น
      
       สำหรับยอดขายต่อเดือนประมาณ 30-40 ผืน ราคาขายต่อผืนประมาณ350- 450 บาท โดยทางกลุ่มมีสมาชิกทั้งหมด 19 คน ส่วนใหญ่จะใช้เวลาว่างจากการทำการเกษตร มารวมกลุ่มทอผ้า มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อคนประมาณเดือนละ 3,000-4,000 บาท และนอกจากจะขายเป็นผ้าซิ่น แบบดั้งเดิม ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนแปรรูปออกมาเป็นกระเป๋า ผ้าคลุมไหล่ ผ้าม่าน เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างโอกาสการขายใหม่อีกทางหนึ่ง ด้วย
       

  -เกลือสินเธาว์ 

บ่อเกลือ ตั้งอยู่ในอำเภอบ่อเกลือ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดน่าน เดิมเรียกว่า "เมืองบ่อ" ซึ่งหมายถึง เมืองที่มีบ่อเกลือสินเธาว์ ที่มีอยู่ในพื้นที่ซึ่งเดิมมีอยู่ในจำนวน 7 บ่อ คือ บ่อหลวง บ่อหยวก บ่อเวร บ่อน่าน บ่อกิน บ่อแคะ และบ่อเจ้า 
   บ่อเกลือมีอยู่สองบ่อ คือ บ่อเกลือเหนือ และ บ่อเกลือใต้ โดยบ่อเกลือเหนือมีขนาดใหญ่ มีโรงต้มเกลืออยู่หลายโรง ส่วนบ่อเกลือใต้ มีโรงต้มเกลือน้อยกว่า ทั้งสองบ่อชาวบ้านยังใช้วิธีการต้มเกลือแบบโบราณในโรงเกลือที่ปิดมิดชิด ภายในมีเตาขนาดใหญ่ขึ้นรูปจากดินเหนียวสำหรับวางกะทะใบเขื่อง หรือกระทะแขวนตะกร้าไม้ไผ่สานใบเล็กๆ เพื่อใช้สำหรับบ่อเกลือ ชาวบ้านที่บ้านบ่อหลวง ทำการต้มเกลือสินเธาว์มาตั้งแต่โบราณหลายร้อยปีมาแล้ว จากหลักฐานทางธรณีวิทยาระบุว่า เมื่อหลายแสนปีก่อน บริเวณนี้เคยเป็นทะเล







ประวัติชาติพันธุ์บ่อเกลือ   จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสประจำหมู่บ้านที่จดจำจาก "ปั๊บปิน" เป็นเอกสารใบลานซึ่งเขียนเป็นอักษรธรรมล้านนาไว้และได้สูญหายไปจากวัดบ่อหลวงราว 40-70 ปี มาแล้ว แต่มีผู้จดจำเรื่องราวในเอกสารนั้นเป็นอย่างดีคือ อดีตกำนันนนท์ถี เขื่อนเมือง และเป็นผู้เดียวที่จดจำเรื่องราวเหล่านี้ได้
   บรรพบุรุษเล่าว่า...เป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากมองโกเลียออกมาทางแม่น้ำเหลืองทางหัวพันห้าทั้งหก เมื่อล่องแม่น้ำโขงมาถึงลาว จึงมาหยุดอยู่ที่เมืองหลวงน้ำทาแต่พวกลาวไม่ให้อยู่ จึงข้ามมาอยู่ที่เชียงแสนเจ้าหลวงภูคาจึงไปบอกให้มาหักล้างถางพงอยู่บริเวณนี้มีแม่น้ำลำธารดี ให้มาทำเกลือโดยที่เจ้าหลวงภูคาไปขอเจ้าหลวงน่าน เ้จ้าหลวงน่านไปขอพญาเม็งรายเพื่อขอคนเชียงแสนที่อพยพให้มาอยู่ที่นี่ ราว พ.ศ.2323-2327 ในสมัยล้านนาเป็นเมืองขึ้นพม่า

ภูมิปัญญาของจังหวัดน่าน (ภูมิปัญญาบ้านฉัน)

 -  ผ้าทอลายน้ำไหล 

ผ้าทอที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทลื้อ จังหวัดน่าน เมืองเก่า ยังคงรักษาประเพณีวัฒนธรรมโบราณของตนเองสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสันนิฐานว่าการออกแบบลายผ้าทอชาวไทลื้อ สืบเชื้อสายมาจากชาวไทลื้อในดินแดนสิบสองปันนา ประเทศจีน อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2379 โดยตั้งถิ่นฐานที่บ้านล้าหลวง อ.เชียงคำ จ.พะเยา และตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านหนองบัว บ้านต้นฮ่าง ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน และบ้านดอนมูล อ.ท่าวังผา จ.น่าน โดยการนำของเจ้าหลวงเมืองล้า ชาวไทลื้อ มีภาษาพูด และประเพณีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง และรักษาสืบทอดจนถึง  ปัจจุบันนี้ ประวัติดังกล่าวได้ปรากฎในจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ ซึ่งเป็นฝีมือช่างสกุลลื้อ ที่ได้วาดลวดลายของผ้าซิ่นของผู้หญิงในรูปเป็นลายผ้าซิ่นทั้งหมดด้วยผ้าทอลายน้ำไหลที่ดัดแปลงมาจากผ้าลายชาวลื้อ สมัยแรกๆ นิยมใช้ไหมเงิน และไหมคำด้านลายผ้าตรงส่วนที่เป็นหยักของกระแสน้ำ จากนั้นใช้ลายมุกรูปสัตว์แทรกเพื่อแสดงว่าผู้คิดลายน้ำไหล ไม่ได้ลอกแบบของชาวลื้อมาทั้งหมด ผ้าทอลายน้ำไหลไทลื้อเริ่มทอกันครั้งแรกที่บ้านหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน เป็นศิลปะการทอผ้าด้วยมือ 
       
       สาเหตุที่เรียกผ้าทอลายน้ำไหล เพราะลวดลายที่อออกมามีลักษณะเหมือนลายน้ำไหล จึงเรียกว่าผ้าลายน้ำไหล แต่ปัจจุบันได้คิดพลิกแพลงลวดลายต่างๆ เพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย และได้ขยายพื้นที่การทอผ้าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ยังคงเรียกชื่อเดิมว่าผ้าลายน้ำไหล ผ้าทอลายน้ำไหลจังหวัดน่าน ปัจจุบันมีการทอลวดลายต่างๆ มากมาย เช่น ลายน้ำไหล มีลักษณะเป็นคลื่นเหมือนขั้นบันไดมองดูเหมือนสายน้ำกำลังไหลเป็นทางยาว นับว่าเป็นลายต้นแบบ และดั้งเดิม จึงเรียกลายน้ำไหล   นอกจากนี้ ลายจรวด เป็นการเพิ่มหยักในลายน้ำไหลเป็นลายที่มีลักษณะคล้ายจรวดกำลังพุ่ง หรือตอปิโด ลายดอกไม้หรือลายแมงมุม เมื่อนำผ้าลายน้ำไหลมาต่อกันมีจุดช่องว่างตรงกลางเติมเส้นลายขาเล็กๆ แยกออกรอบตัว มองดูคล้ายดอกไม้หรือแมงมุม เรียกว่าลายดอกไม้หรือ ลายแมงมุม ลายปลาหมึก มีลักษณะลวดลายคล้ายแมงมุม แต่ทิ้งหางยาวกว่าลายแมงมุม ลายเล็บมือนาง คือ การนำลายน้ำไหลมาหักมุมให้ทู่ และทอสอดสีด้ายให้เลี่ยมเป็นชั้นๆ ลายธาตุ เป็นลวดลายที่ประยุกต์ขึ้นมาตามลักษณะคล้ายเจดีย์เป็นชั้นๆ ยอดเจดีย์ปลายแหลม ลายกาบ ลักษณะใช้เส้นฝ้ายหลายสีทอซ้อนกันหลายชั้นเป็นกาบ ลายใบมีด มีลักษณะการสอดสีด้ายหลายๆ สีในผืนผ้าดูลักษณะเหมือนใบมีดโกนบางๆ สบับสีหลายสีในผืนผ้า สำหรับลายลายน้ำไหลเป็นลายที่มีความนิยม และมียอดจำหน่ายมากที่สุด และนอกจากนี้ ยังมีลายแมงมุมสลับกับลายน้ำไหลเพื่อเพิ่มความสวยงาม